Skip Content
ไทย / อังกฤษ

ขณะนี้คุณอยู่ที่ | หน้าแรก | วารสารปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๔ | สมชาย วิริภิรมย์กูล, ดลพัฒน์ ยศธร, เกรียงศักดิ์ ธรรมอภิพล,สุพัตรา ศรีวณิชชากร, กวินารัตน์ สุทธิสุคนธ์

วารสารวิทยาลัยราชสุดาเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนพิการ
วารสารปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๔


บทความวิจัย : สถานการณ์สุขภาพของผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพ
: กรณีศึกษา อำเภอท่ามะกา และ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี

ผู้วิจัย : สมชาย วิริภิรมย์กูล, ดลพัฒน์ ยศธร, เกรียงศักดิ์ ธรรมอภิพล,
สุพัตรา ศรีวณิชชากร, กวินารัตน์ สุทธิสุคนธ์

E-mail : 1Somchai.vir@mahidol.ac.th

บทคัดย่อ

การดูแลผู้สูงอายุที่ประสบกับภาวะทุพพลภาพ เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ มุ่งศึกษาสถานการณ์สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพใน 2 ชุมชน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งมีโครงสร้าง กับผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพในครอบครัวของชุมชนตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา และ ตำบลจรเข้เผือก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลละ 12 ราย รวม 24 ราย และสนทนากลุ่ม แบบกึ่งมีโครงสร้างคำถาม กับผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพในชุมชน รวม 2 กลุ่ม อันได้แก่ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ อบต. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว


ผลการศึกษา พบว่า แนวโน้มผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพในชุมชน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุมาจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ การเสื่อมโทรมตามวัย เช่น หูตึง กระดูกเสื่อม ฯลฯ และการประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน หกล้ม ฯลฯ ทำให้ต่อมาเกิดภาวะทุพพลภาพในระยะยาว ส่วนประเด็นการดูแลผู้สูงอายุที่พิการและทุพพลภาพนั้น มีการดูแลโดยตนเอง โดยครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมทั้งโดยชุมชน อันได้แก่ กลุ่มเพื่อนบ้าน และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งให้การดูแลเป็นอย่างดี


ผู้ที่เกี่ยวข้องและภาครัฐควรให้ความรู้ สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ให้เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพตนเอง ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงการเข้าสู่วัยชรา การหาแนวทางป้องกันปัญหาการหกล้ม และภาวะทุพพลภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรจัดสวัสดิการเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือบางกรณี เช่น จัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้มีภาวะทุพพลภาพระยะยาว เช่น รถเข็น ที่นอนลม ฯลฯ สนับสนุนการเดินทางมาพบแพทย์ และเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพ ตลอดจนสนับสนุนการให้ความรู้แก่คนในครอบครัว อสม. อผส.ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน


คำสาคัญ: ผู้สูงอายุ, ทุพพลภาพ, ภาวะสุขภาพ, การดูแลผู้สูงอายุทุพพลภาพระยะยาว, ชุมชน

วารสารฉบับเต็ม :ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม ภาพ icon เพื่อให้ทราบว่าเป็นไฟล์ PDF

menu-thai

* ความคิดเห็น ข้อมูล และบทสรุปต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ ในวารสารเป็นของผู้เขียนบทความ และมิได้แสดงว่า กองบรรณาธิการวารสารวิทยาลัยราชสุดาและ คณะผู้จัดทำเห็นด้วยทั้งหมด