Skip Content
ไทย / อังกฤษ

ขณะนี้คุณอยู่ที่ | หน้าแรก | วารสารปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๔ | ธีรศักดิ์ ศรีสุรกุล, ศักดา โกมลสิงห์, พนิตา โพธิ์เย็น

วารสารวิทยาลัยราชสุดาเพื่อการวิจัยและพัฒนาคนพิการ
วารสารปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๔


บทความวิจัย : การศึกษาสถานการณ์และปัญหาการปฏิบัติงานของล่ามภาษามือไทยในการจัดการเรียน
การสอนนักศึกษาหูหนวก: กรณีศึกษาวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้วิจัย : 1 ธีรศักดิ์ ศรีสุรกุล, 2 ศักดา โกมลสิงห์, 3 พนิตา โพธิ์เย็น

E-mail : 1 tum_nfe@live.com , 2 sakda_ko@hotmail.com, 3 panita.pho@mahidol.ac.th

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์และปัญหาการปฏิบัติงานของล่ามภาษามือไทยในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาหูหนวก พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของล่ามภาษามือไทยในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาหูหนวก งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลกับล่ามภาษามือไทยที่ปฏิบัติงานในวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 6 คน ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและจัดสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์สรุปอุปนัย การจับใจความสำคัญ และการสร้างข้อสรุปร่วมกัน


ผลการศึกษาสถานการณ์การปฏิบัติงานของล่ามภาษามือไทยในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาหูหนวก พบว่า มี 11 ประเด็น ได้แก่ 1) การศึกษาคำศัพท์ 2) การใช้ภาษามือไทยในการจัดการเรียนการสอน 3) การพบผู้สอนล่วงหน้า 4) ความดังของเสียงที่เหมาะสมมีผลต่อการปฏิบัติการ 5) การชี้ข้อความในเอกสารประกอบการสอนหรือจอสไลด์ 6) การได้รับแจกเอกสารประกอบการสอนหรือแบบฝึกหัดก่อนถึงเวลาเรียน 7) บทบาทหน้าที่ของอาจารย์ผู้สอนกับบทบาทล่ามยังมีความคลุมเครือ 8) ล่ามไม่สามารถเพิ่มเติมเนื้อหา/แปลนอกเหนือจากสิ่งที่อาจารย์สอน 9) บทบาทที่ไม่เหมาะสมที่มอบหมายให้ล่ามทำ 10) การล่าม 2 คนปฏิบัติงานต่อ 1 คาบเรียน และสลับการปฏิบัติการล่ามทุก ๆ 15 – 20 นาที และ 11) ปัจจัยทางกายภาพส่งผลต่อการปฏิบัติงานล่าม ส่วนปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของล่ามภาษามือไทยในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาหูหนวก พบว่า 1) ปัญหาพื้นความรู้เดิมมีผลต่อการแปลภาษามือและแปลพูดของล่าม แนวทางการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การศึกษาจากวิดีทัศน์ การมีระบบพี่เลี้ยงคู่ล่าม การคลุกคลีกับนักศึกษาเพื่อให้ได้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น การจัดทำคลังคำภาษามือแยกตามกลุ่มวิชาเอกโดยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างอาจารย์ผู้สอน ล่าม ครูสอนภาษามือ ผู้จดคำบรรรยาย และผู้บันทึกวิดีทัศน์ 2) ปัญหาการประสานงานกับอาจารย์ผู้สอน โดยล่ามเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยให้อาจารย์ผู้สอนได้กำหนดเวลาที่ชัดเจนให้กับนักศึกษาได้เข้าพบ การเปลี่ยนแปลงวันและเวลาเรียนขอให้แจ้งล่วงหน้า และขอให้สอนตรงตามเวลาเพราะหากเกินเวลาล่ามที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อจะไม่มีเวลาพัก 3) ปัญหาบทบาทของล่าม ในการจัดการเรียนการสอนยังคลุมเครือไม่ชัดเจนระหว่างอาจารย์และล่าม โดยล่ามมีความคิดเห็นว่าควรกำหนดบทบาทที่ชัดเจนให้กับล่ามในรายวิชานั้นว่าอยู่ในบทบาทล่ามอย่างเดียว หรือเป็นผู้ช่วยสอน หรือผู้สอนร่วม และดำเนินการวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับบทบาทดังกล่าวด้วย 4) ปัญหาสุขภาพของล่าม โดยล่ามมีความคิดเห็นว่าควรจัดสรรเวลาในการทำงานของล่ามให้มีความเหมาะสม และ 5) ปัญหาปัจจัยทางกายภาพที่ส่งผลต่อการปฏิบัติการล่ามในชั้นเรียน ได้แก่ คุณภาพของไมโครโฟนทำให้ล่ามได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ความชัดและขนาดแคปเจอร์จอล่ามในจอมอนิเตอร์ส่งผลนักศึกษาหูหนวกมองภาษามือไม่ชัด และการจัดวางเก้าอี้ที่บดบังกันทำให้นักศึกษาหูหนวกมองล่ามไม่ชัดเจน แนวทางการแก้ไขปัญหาคือต้องปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้นักศึกษามองล่ามทำภาษามือได้อย่างชัดเจน


คำสาคัญ: ล่ามภาษามือไทย, การจัดการเรียนการสอน, นักศึกษาหูหนวก

วารสารฉบับเต็ม :ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม ภาพ icon เพื่อให้ทราบว่าเป็นไฟล์ PDF

menu-thai

* ความคิดเห็น ข้อมูล และบทสรุปต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ ในวารสารเป็นของผู้เขียนบทความ และมิได้แสดงว่า กองบรรณาธิการวารสารวิทยาลัยราชสุดาและ คณะผู้จัดทำเห็นด้วยทั้งหมด